ค้นหาข้อมูลใน Blog

Tuesday, May 19, 2009

บุญบั้งไฟภูไท ความงดงามของบุญบั้งไฟไทย:ประเพณีวัฒนธรรมผู้ไทยบุญบั้งไฟตะล้านตำบลกุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์


“จากเมืองบก เมืองวัง แขวงคำม่วน
เคลื่อนขบวน กันมา หาถิ่นใหม่
ถึงคำหว้า ถิ่นอุดม สมดั่งใจ
แดนบั้งไฟ ตะไลล้าน สะท้านเมือง”


เมื่อพูดถึง ภูไท ผู้ไท หรือผู้ไทย หลายคนมักจะนึกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติพันธุ์ที่มีภาษาพูด การแต่งกาย และวัฒธรรมประเพณีที่แตกต่างออกไปจากคนอีสานที่มีเชื้อสายลาวซึ่งหลายคนก็คงไม่ได้คิดถึงบุญบั้งไฟมากนัก และเมื่อพูดถึงบุญบั้งไฟหลายคนก็มักจะนึกถึงวัฒนธรรมของชาวลาวอีสาน โดยเฉพาะการจัดงานประเพณีของจังหวัดยโสธร แต่สำหรับวัฒนธรรมผู้ไทยบุญบั้งไฟของชาวตำบลกุดหว้ามีความแตกต่างและมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นกว่าพื้นที่อื่น

ในข้อเขียนชิ้นนี้ ผู้เขียนจะขอเล่าถึงความประทับใจจากการเข้าร่วมงานประเพณีบุญบั้งไฟตะไลล้านของตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา สำหรับงานบุญบั้งไฟตะไลนั้นผู้เขียนทราบว่ามีพื้นที่ที่จัดงานดังกล่าวที่เด่น ๆ อยู่ 2 แห่ง คือที่ตำบลกุดหว้าซึ่งจะจัดขึ้นในเสาร์-อาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ส่วนอีกที่หนึ่งก็คือประเพณีบุญบั้งไฟตะไลของชาวบ้านอ้อ ต.เมืองหลวง อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ
[1] ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายนของทุกปี และในปีนี้ยังมีการจัดประเพณีที่ตำบลหนองกุง อำเภอเมือง จ.กาฬสินธุ์ ด้วย ซึ่งก่อนอื่นผู้เขียนขอเท้าความถึงประวัติของหมู่บ้านกุดหว้านี้ก่อน

ประวัติบ้านกุดหว้า
[2]
บ้านกุดหว้า
[3]เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ก่อตั้งมาประมาณ 150 ปี เดิมมีชื่อว่า “บ้านคำหว้า” ชาวกุดหว้าเป็นชนเผ่าผู้ไทยอพยพมาจากบ้านกระแตบ ตั้งอยู่ระหว่างกลางเมืองบกกับเมืองวัง สปป.ลาว หลังจากศึกเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ในปี 2370 ราชวงศ์เมืองวังก็แตก ปี 2387 ผู้ไทจากเมืองวังจำนวน 3,443 คน ถูกกวาดต้อนมาที่เมืองกุดสิมนารายณ์ (อำเภอกุฉินารายณ์ในปัจจุบัน) เจ้าเมืองวังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์ชื่อ พระธิเบศวงศ์ษา (กอ) เมื่อผู้ก่อตั้งหมู่บ้านนี้คือ นายโฮัง นายโต้น และนายเต้ง ทราบว่าเจ้าเมืองวังมาสร้างบ้านเมืองใหม่ต่างก็พากันมีความยินดีจึงอพยพครอบครัวกว่า 60 คน ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาฝั่งไท (สยาม) ตั้งบ้านเรือนกระจายกันอยู่หลายแห่ง เช่น บังเฮือก บังทรายวังน้ำเย็น ตาด โตน กะเปอะ วังพัน หนองแสง สามพี่น้องได้อยู่ที่บ้านหนองแสง (อำเภอเขาวง) และมีอาชีพล่าสัตว์ป่าเพื่อเป็นอาหารและขาย โดยได้เที่ยวออกล่าเนื้อเป็นประจำ ในเขตเขาภูผาผึ้ง ภูมะตูม ภูผาโง ต่อได้มาเห็นภูมิประเทศบริเวณคำหว้าซึ่งเป็นบริเวณบ้านกุดหว้าปัจจุบันเป็นป่าไม้สูงหนาทึบ มีสัตว์ชุกชุมมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เป็นประเภทน้ำคำ น้ำบ่อ โดยเฉพาะที่คำหว้ามีต้นหว้าใหญ่ขนาดสามคำโอบอยู่ต้นหนึ่ง มีน้ำพุไหลออกจากโคนต้นมิได้ขาด สัตว์หลายชนิดชอบมาอยู่บริเวณนี้มาก มีความอุดมสมบูรณ์ จึงอพยพครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนที่บ้านกุดหว้า ในวันอังคาร ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง ปี 2399 เป็นต้นมา บ้านคำหว้าได้เปลี่ยนชื่อเป็นกุดหว้าตามคำสั่งของทางการเมื่อประมาณ 60 ปีที่ผ่านมา ในปี 2532 ได้ยกฐานะเป็นสุขาภิบาล ปี 2542 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาล มีหมู่บ้านในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลจำนวน 6 หมู่ คือ หมู่ที่ 1 2 8 9 11 และ 13

บุญบั้งไฟตะไลตำบลกุดหว้า
บุญบั้งไฟตะไลถือเป็นความภาคภูมิใจของคนกุดหว้า ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาภูไทสืบทอดต่อให้ลูกหลาน แต่เดิมบุญบั้งไฟของตำบลก็จัดงานโดยจุดบั้งไฟหางเหมือนเช่นในพื้นที่อื่น ต่อมานายพิศดา จำพล (ปัจจุบันอายุ 68 ปี) ช่างทำบั้งไฟในหมู่บ้าน ได้คิดค้นวิธีทำบั้งไฟเพื่อให้แตกต่างจากพื้นที่อื่นจนกลายเป็นการทำบั้งไฟตะไลแสน และได้มีการจุดบั้งไฟตะไลบั้งแรกในงานบุญบั้งไฟปี 2521 และตำบลกุดหว้าก็ได้สืบสานเปลี่ยนเป็นการจัดงานบุญบั้งไฟตะไลเรื่อยมา

เทศบาลตำบลกุดหว้าเริ่มมีการประชาสัมพันธ์งานบุญบั้งไฟตะไลอย่างกว้างขวางเมื่อประมาณ 4-5 ปี ที่ผ่านมา และมีรายการเข้าไปถ่ายทำสารคดี เช่น รายการวันหยุดสุดขีด ของช่อง 7 ได้เข้าไปถ่ายทำในปี 2550 บุญบั้งไฟของที่นี่จะจัดขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี เดิมนั้นจัดเป็นงานบั้งไฟตะไลแสน และเริ่มเป็นงานบุญบั้งไฟตะไลล้านในปี 2549 ในงานมีการจัดประกวดขบวนแห่งบั้งไฟตะไล แข่งขันจุดบั้งไฟตะไล การจุดบั้งไฟตะไลล้านบูชาแถน ซึ่งเป็นการสืบสานงานวัฒนธรรมผู้ไทย เสริมสร้างความสมานสามัคคี ความเข้มแข็งของชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ หากไม่ต้องการความสะดวกสบายมากนัก บุญบั้งไฟของที่นี่เป็นทางเลือกของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ต้องการดูประเพณีบุญบั้งไฟในแบบฉบับชาวบ้าน ที่อาจจะแตกต่างจากประเพณีของชาวเมือง และสามารถเลือกซื้อสินค้า OTOP คุณภาพ และพักแบบสบาย ๆ กับโฮมเสตย์ผู้ไทย ในหมู่บ้านใกล้เคียงได้อีกด้วย

บุญบั้งไฟตะไลล้านปี 2552
สำหรับปี 2552 นี้ บุญบั้งไฟตะไลจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 ซึ่งมีไฮไลท์อยู่ที่การจุดบั้งไฟตะไลขนาด 5 แสน และ 2 ล้าน











งานแบ่งออกเป็น 2 วันคือวันแห่และวันจุด สำหรับในปีนี้ มีตะไลแสน 72 บั้ง และตะไลล้าน 81 บั้ง ในวันแรกจะมีการทำบุญที่วัดกกต้องตั้งแต่เช้า หากเข้าไปที่วัด เราจะเห็นบรรยากาศของงานวัดเล็ก ๆ มีการสอยดาวของกรรมการวัดซึ่งจะเห็นผ้าที่ชาวผู้ไทยนำไปบริจาคเพื่อการจับสลากเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจะมีคณะกรรมการรับบริจาคเงินในการทำบุญอยู่ด้วย และเราก็จะได้เห็นพิธีเถราภิเษก (ฮดสรง) ตามคติความเชื่อของชาวผู้ไท[4] ในช่วงเช้าอีกด้วย นอกจากนี้ ก็มีการจุดตะไลแสน 19 บั้ง (กำหนดเดิม 20 บั้งแต่ถอนตัว 1 บั้ง) เนื่องจากมีตะไลเป็นจำนวนมากเกรงจะจุดไม่หมด และในช่วงบ่ายจะเป็นขบวนแห่ สำหรับตอนกลางคืนจะมีมหรสพ และในวันที่สองจะเป็นการจุดตะไลทั้งวัน



ความพิเศษอย่างหนึ่งของที่นี่ ก็คือ การรณรงค์งานบุญบั้งไฟปลอดเหล้าของ สสส. เป็นปีที่ 2 ซึ่งค่อนข้างประสบความสำเร็จ แม้จะมีซุ้มของเบียร์ช้างตั้งขายอยู่ 1 จุด แต่ผู้เขียนก็เห็นว่าไม่ใช่การสนับสนุนของผู้จัด และก็ไม่ได้มีการกินดื่มจนดูน่าเกลียด และทำให้วัฒนธรรมบั้งไฟยังคงเป็นประเพณีที่ยึดอยู่กับขนบธรรมเนียมและความเชื่อเดิมมากกว่าที่จะจัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์เท่านั้น ชาวบ้านเล่าว่าบุญบั้งไฟของที่นี่ไม่ค่อยมีนักดื่มมากนักอยู่แล้ว การสนับสนุนปลอดเหล้าของ สสส. ก็ยิ่งเป็นการดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี สสส. ยังคงต้องทำงานหนักในส่วนของการรณรงค์กับนักดื่มที่เป็นวัยรุ่น
ขบวนแห่บั้งไฟจะมีรถบั้งไฟสวยงามที่หัวรถประดับด้วยตะไล ไม่ใช่บั้งไฟหางเหมือนกับที่เราจะพบเห็นทั่วไป ในพิธีเปิดจะมีการร่ายรำร่วมกันของสาวผู้ไทยที่หน้าเทศบาลตำบลกุดหว้า เราจะเห็นการต่างกายของชาวผู้ไทยที่แตกต่างกันของแต่ละคุ้ม นอกจากเสื้อผ้าที่โดดเด่นแล้ว การตกแต่งทรงผมที่ประดับด้วยผ้ารัดก็เป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ชาวกุดหว้ายังมีการประดิษฐ์ตะไลจำลองในหลายรูปแบบ หรือแม้แต่การประดิษฐ์ของตกแต่งต่าง ๆ ที่ใช้ในขบวนแห่ ซึ่งมีความสวยงามและน่าทึ่งอย่างมาก โดยจะเห็นว่าส่วนใหญ่สาววัยรุ่นและสาวประเภทสองจะเป็นสาวงามที่จะถือป้ายและนั่งรถในขบวน ส่วนเด็กและแม่บ้าน ผู้สูงอายุ จะเป็นมผู้ที่ทำหน้าที่รำเซิ้ง










หนึ่งในตะไลจำลองเพื่อใช้ในขบวนเซิ้ง ซึ่งได้รับการประดิษฐ์ประดอยอย่างสวยงาม

ขบวนแห่ของที่นี่มีความยาวพอเหมาะสามารถที่จะแห่ตั้งแต่เทศบาลจนถึงวัดกกต้องหมดในช่วงบ่าย ผาแดงนางไอ่ยังเป็นสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญตำนานความเชื่อที่จะได้พบเห็นในขบวน นอกจากนี้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม และประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านก็จะถูกถ่ายทอดให้เราได้ชื่นชม ความสวยงามของรถแต่ละคันทำให้เรารู้ได้ว่ากว่าจะทำได้แบบนี้ได้ต้องใช้เวลาอย่างมาก แม้แต่รถขบวนที่มีผลไม้และพืชผักที่แสดงความอุดมสมบูรณ์ของผู้ไทย ก็ไม่ใช่จะเตรียมล่วงหน้าได้ แต่จะต้องทำแบบข้ามคืนก่อนวันงานจึงทำให้ของแต่ละอย่างสดใหม่น่ากินมาก

ดนตรีที่ใช้ประกอบในขบวนจะไม่ใช้กลองยาว แต่จะเป็นรถดนตรีโปงลางประยุกต์ที่แต่ละคุ้มว่าจ้างมาบรรเลงเพลงสดประกอบขบวนเซิ้งแทน เสียงจากรถแต่ละคันมีความดังพอเหมาะ นักดนตรีในแต่ละคันจะแต่งกายเป็นหญิงซึ่งก็สนุกสนานไปอีกแบบ ที่สำคัญในหมู่บ้านกุดหว้านี้จะมีวงดนตรีโปงลางชื่อดัง “หนุ่มมะพร้าวห้าว สาวดอกคูณ” ซึ่งก็จะรับหน้าที่บรรเลงเพลงเซิ้งให้กับหมู่ 1 อย่างไรก็ดี ก็มีกลองยาวคณะเล็ก ๆ “ขวัญใจกุดหว้า” ปิดท้ายขบวน

ขบวนแห่ที่นี่ไม่ใช้กลองยาวแต่จะมีรถเครื่องเสียงพื้นบ้านประยุกต์บรรเลงสดต่อท้ายขบวนเซิ้ง ซึ่งคล้ายกับที่งานบุญบั้งไฟของ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ก็สนุกสนานไปอีกแบบ



วิถีชีวิตชาวบ้าน หนึ่งในขบวนแห่ที่สะท้อนเรื่องราวชาวภูไท





สำหรับบั้งไฟตะไลนั้น มีลักษณะเป็นวงกลมคล้ายล้อเกวียน ประกอบด้วยกระบอกหรือแป๊บเหล็ก ข้างในอัดแน่นด้วยดินปืน มีหลายขนาด ได้แก่ ตะไลจิ๋ว ตะไลแสน และตะไลล้าน ขอบของบั้งเป็นวงกลมทำด้วยไม้ไผ่ผ่าให้แบน เรียกว่า ‘กง’ มีหน้าที่บังคับตะไล บั้งไฟตะไลล้าน มีความยาวประมาณ 6 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางของกระบอก 5 นิ้วขึ้นไป บั้งไฟตะไลแสนมีความยาวประมาณ 2 ½ - 3 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางของกระบอก 3 นิ้วขึ้นไป ตัวบั้งไฟทำจากท่อเหล็ก ไม่ใช้ท่อ PVC เหมือนกับบั้งไฟหางในปัจจุบัน
การจุดบั้งไฟตะไลค่อนข้างมีความปลอดภัยกว่าการจุดบั้งไฟหาง แม้จะไม่สามารถบังคับทิศทางได้ แต่ทว่าการพุ่งขึ้นของตะไลไม่ได้มีความเร็วเท่ากับบั้งไฟหาง อย่างไรก็ดี การที่บั้งไฟแตกก็สามารถส่งผลเป็นอันตรายถึงตายได้ ซึ่งทางเทศบาลก็จะทำประกันบุญบั้งไฟไว้ด้วย

ช่างทำตะไลของตำบลกุดหว้า ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น จะมีช่างอาวุโสอยู่ประจำบั้งไฟแต่ละซุ้มเพียงคนหรือสองคนเท่านั้น ที่นี่ค่ายบั้งไฟจะเรียกว่า “ซุ้ม” หรือ ทีมงาน เช่น ซุ้มกิ่งทอง ทีมงานศิษย์ช่างแดงปลายฟ้า เป็นต้น ชาวบ้านที่นี่เล่าให้ฟังว่า ชาวกุดหว้าจะมีการเรียนรู้การทำบั้งไฟกันตั้งแต่เด็ก และจะห้ามไม่ให้นำบั้งไฟจิ๋วมาขายในงานอย่างเข้มงวด เพราะเป็นอันตรายต่อคนทั่วไป โดยจะมีประกาศของทางเทศบาลเรื่องข้อบังคับการเข้าชมและการจุดบั้งไฟฯ โดยฐานจุดบั้งไฟตะไลจะอยู่บริเวณศาลเจ้าปู่กุดหว้า และเป็นป่าชุมชนของหมู่บ้าน








การจุดบั้งไฟตะไลจะใช้ไม้ขนาดยาวต่อไฟจุดกับชนวนโดยตรงซึ่งจะเป็นจำนวนคู่ บั้งไฟแสน 4 ชนวน บั้งไฟล้าน 6 ชนวน การพุ่งจะพุ่งขึ้นในแนวดิ่ง และก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของช่างทำบั้งไฟ การแข่งขันจุดบั้งไฟอยู่ที่การจับเวลาตั้งแต่การปล่อยบั้งไฟขึ้นจนกระทั่งตกลงมา โดยจะมีกรรมการจับเวลาคอยดู คนขายน้ำแข็งใสท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า บั้งไฟตะไลเวลาขึ้นจะมีความสวยงาม แต่ถ้าให้สวยกว่านั้นก็คือตอนที่บั้งไฟขึ้นฟ้าแล้วแตก ซึ่งก็ต่างมุมมองของคนชอบดูบั้งไฟ ในปีนี้ บั้งไฟตะไลของบางค่ายจะมีร่มกางในขณะที่ตกลงมาด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการหักปากกาเซียนเพราะปกติเวลาจะอยู่ที่ประมาณ 60 – 80 วินาที แต่บั้งไฟที่มีร่มบั้งไฟแรกนี้จับเวลาได้กว่า 119 วินาที

ผู้เขียนไม่ได้มีโอกาสร่วมงานในวันที่สอง ซึ่งเป็นวันที่มีคลื่นมหาชนเข้าไปชมกันอย่างล้นหลาม แต่จากการเข้าไปดูคลิปจากทางอินเตอร์เนต ทราบได้ว่า มีความสนุกสนานกันมาก ซุ้มที่ทำตะไลส่วนใหญ่จะมีการแต่งตัวเป็นผู้หญิง และหากตะไลไม่ขึ้นก็จะมีการลงโทษด้วยการหามลงตม หากไม่นับการพนัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันในปัจจุบันว่ามีการเล่นพนันในงานบุญบั้งไฟทั่วไปกันเป็นจำนวนมากนั้น ผู้เขียนเห็นว่า บั้งไฟตะไลเป็นนวัตกรรมของชาวบ้าน ภูมิปัญญาชาวผู้ไทยที่มีค่าล้ำ ความรู้สึกของการดูขบวนแห่บั้งไฟแล้วยิ้มไป รู้สึกชื่นชมจนแทบน้ำตาไหลไม่ได้ รู้สึกว่าแม้แต่เสียงแซวจากข้างทางของคนในหมู่บ้านก็มีความงามในตัวเอง ที่เป็นการแสดงถึงความใกล้ชิดที่ยากจะมีแล้วในปัจจุบัน ทำให้หวนคึดถึงวันเก่า ๆ ในงานบุญหมู่บ้านของตนที่เคยมี ความรู้สึกเหล่านี้ยากจะบรรยานัก หากมีโอกาสอยากให้ไปสัมผัสความงดงามบุญบั้งไฟแบบผู้ไทย ความสามัคคีของของชาวบ้านกุดหว้า ภูมิปัญญาของชาวบ้าน และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของงานบุญของชาวบ้าน นี่เป็นความงดงามของบุญบั้งไฟที่เราจะหาดูได้ยาก


ท่ามกลางประเพณีบุญบั้งไฟหลายแห่งที่กำลังจะถูกโลกยุคทุนนิยมกลืนหาย และกลบด้วยสุรา และการพนัน ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ชาวกุดหว้าดำรงวัฒนธรรมที่ดีงามของตน ด้วยป้อมปราการแห่งความสมานสามัคคีของคนในชุมชนไปตราบนานเท่านาน

หมายเหตุ: สำหรับนักท่องเที่ยวขอแนะนำให้เข้าเยี่ยมชมอาคารอุทยานประวัติศาสตร์วัฒนธรรมผู้ไทยบั้งไฟตะไลล้านขอขอบพระคุณพี่สุพรรณมาลา เจ้าหน้าที่เทศบาล มิตรที่พานพบในงานบุญบั้งไฟตะไลกุดหว้า และชาวบ้านกุดหว้าที่กรุณาให้ข้อมูล

อ้างอิง
* เทศบาลตำบลกุดหว้า. 2550. กิจกรรมงานบุญฯ. ค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2552 จาก http://www.kutwamunicipality.ob.tc/ index3.html
* ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในไทย. 2550. ผู้ไท (ญ้อ โย้ย) Phuthai. ค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2552 จาก http://www3.sac.or. th/ethnic/Content/Information/phuthai.html
* รายการวันหยุดสุดขีด, 2550. ประเพณีวัฒนธรรมผู้ไทยบั้งไฟตะไลล้านกุดหว้า. [รายการโทรทัศน์] กรุงเทพฯ: บริษัท ทริปเปิ้ลทู จำกัด.
[1] http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E4858360/E4858360.html
[2] หากสืบค้นประวัติของบ้านกุดหว้าจากทางอินเตอร์เนต หรือตรวจสอบจากเอกสารบางชิ้นมีการระบุความเป็นมาที่ไม่ตรงกันนัก ในที่นี้ ผู้เขียนสืบค้นประวัติหมู่บ้านจากอินเตอร์เนท ประกอบกับเอกสารของกองการศึกษา ของเทศบาลตำบลกุดหว้า และตรวจสอบความเป็นมาของชนเผ่าผู้ไทจากแหล่งข้อมูลอื่นประกอบ
[3] ชาวภูไทหรือภาษาเขียนว่า “ผู้ไท” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานและในท้องที่บ้านกุดหว้าใช้คำว่า “ผู้ไทย” สาเหตุที่ใช้คำว่าผู้ไทย นั้น สันนิษฐานว่า ในครั้งเปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นไทย ทุกคนได้ระบุตนเองว่าคือคนไทย เช่น สมัยก่อนชนเผ่าพวนที่อพยพมาจากลาว เรียกลาวพวน ต่อมาก็เรียกตัวเองว่า ไทยพวน ชาวผู้ไท ก็เช่นเดียวกัน ที่เรียกตัวเองว่าเป็น ผู้ไทย
[4] สามารถสืบค้นรายละเอียดเพิ่มเติมที่ เขม เคนโคก. ฮดสรงและคติความเชื่อของกลุ่มชาติพันธ์ภูไทและกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาวในจังหวัดกาฬสินธุ์. http://cac.kku.ac.th/laos/db/Lan-Xang/artist/thai/khem/article.pdf

5 comments:

  1. ดูสึกดีมาก ก็อยากไปเที่ยวอยู่น่ะไม่ค่อยมีโอกาสเท่าไรแต่คิดว่าปี53นี้จะไปให้ได้ จะสนุกขนาดไหน

    ReplyDelete
  2. ค้างคาวเวหา2533 อ.September 20, 2009 at 3:12 AM

    ครับสำหรับผม ที่เป็นเยาวชนคนหนึ่ง ที่เกิดและใช้ชีวิตในเทศบาลตำบลกุดหว้าก็มีความภูมิใจมาก ในประเพณีบุญบั่งไฟของบ้านเรา ที่ทำให้ผู้คนในหมู่บ้าน มีความสามัคคีแล้ว ยังมีผลพลอยได้อีก หลายอย่างเช่นวันร่วมญาติ
    และผมว่าเป็นวันที่เศรษฐกิจของบ้านเราจะดีที่สุด และเป็นวันที่คนจากทุกสารทิศ มาร่วมตัวกัน โดยเฉพาะบุญบั่งไฟขอเทศบาลตำบลกุดหว้าด้วยแล้ว ยิ่งมีคนต้องการมาดูมาชมกัน ผมได้สัมภาษณ์คุณลงท่านหนึ่งที่มาชมในวันจุด
    บั่งไฟ ท่านบอกว่าก่อนจะชีวิตจะหามัยก็ขอได้ดูบุญบั่งไฟบ้านกุดหว้าสักครั้ง
    แต่ท่านอยากจะดูใก้ลๆๆ แต่ผมเลยบอกท่านว่ามันอันตราย ก็ลองดูขนาด
    คนทำบั่งไฟอย่างพวกผมยังไม่ไว้ใจบั่งไฟที่พวกผมทำเลย แต่ทุกวันนี้บั่งไฟ
    ของบ้านกุดหว้าผมกล้ารับรองเลยว่ามีมาตราฐานพอ เพราะทุกคนที่ทำบั่งไฟได้นั้นต้องเป็นศินย์มีครูกันทุกคนทุกค่าย สุดท้ายนี้ผมก็อยยากให้ประเพณีนี้ดำรงอยู่ต่อไป

    อย่า! ลืมนะครับ อาทิตที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม ของทุกปีคือ

    วันงานบุญบั่งไฟของพวกเราชาวกุดหว้า ค้างคาวเวหา2533

    ReplyDelete
  3. ค้างคาวเวหา2533September 20, 2009 at 3:16 AM

    มันน่าแปลกนะคับเหล็กขนาดใหญ่ มันลอยขึ้นได้ไง

    ลอยขึ้นทางขวางชะด้วย

    ReplyDelete
  4. เยี่ยมที่สุดเลยคร่าบ
    ตอนนี้ลองแปลเป็นภาษาต่างประเทศดูอ่ะครับ ม่ายรุจะใช้ได้ไหม
    กำลังโปรโหมดกับชาวต่างชาติ เงินจะได้สะพัดเข้าหมู่บ้านเรางัย คริๆๆ

    ReplyDelete
  5. บทความนี้ ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง ม.ขอนแก่น ปีที่ 7 ฉบับ ที่ 2 กันยายน - พฤษจิกายน 2552 www.plurality.net/newsletterFile/524Newsletter7-2.pdf

    ReplyDelete

Total Pageviews